4 มกราคม วันชูชาติ เป็นวันที่ระลึกถึง มล.ชูชาติ กำภู อธิบดีกรมชลประทานคนที่ 12 วันนี้เรามาย้อนรำลึกถึงคุณูปการต่าง ๆ ที่ท่านได้สร้างขึ้นเพื่อกิจการชลประทานในประเทศไทย
หม่อมหลวงชูชาติ กำภู เกิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2448 ที่ตำบลประตูสามยอด อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนโตของพลตรีพระยาสุรเสนา (หม่อมราชวงศ์ชิต กำภู) และคุณหญิงผอบ สุรเสนา ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ มีน้องชาย หญิงร่วมบิดามารดา 12 คน
หม่อมหลวงชูชาติ กำภู เริ่มการศึกษาในโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2457 เรียนจบได้รับประกาศนียบัตรชั้นมัธยมบริบูรณ์ เมื่อมีอายุได้ 17 ปี และสอบชิงทุนได้รับทุนเล่าเรียนหลวงให้ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ได้เข้าศึกษาที่ St. Peter's School, York, England เมื่อ พ.ศ. 2466 เป็นเวลา 2 ปี แล้วจึงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ City and Guild's Engineering College, London University เมื่อ พ.ศ. 2468 ศึกษาอยู่ 5 ปี จึงสำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาโททางวิศวกรรมโยธา ประกาศนียบัตรและปริญญาบัตรที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยนี้คือ A.C.G.I., B.Sc. ทางวิศวกรรมโยธา D.I.C. (Advanced Diploma of Imperial College) และปริญญาโท M. Sc. ทางคอนกรีตและไฮโดรลิกส์ ใน พ.ศ. 2472 ได้เข้าฝึกงานในด้านวิศวกรรมโยธา ในกรมโยธาธิการของอังกฤษอีก 1 ปี จึงกลับประเทศไทย เข้ารับราชการในกรมชลประทาน เมื่อ พ.ศ. 2473 ในตำแหน่งนายช่างผู้ช่วยประจำกองที่ปรึกษา
ต่อมา เมื่อดำรงตำแหน่งนายช่างผู้อำนวยการแผนกแบบแผนกองก่อสร้างแทนชาวต่างประเทศ ท่านได้ควบคุมการดำเนินงานออกแบบเพื่องานก่อสร้างของกรมชลประทานทั้งหมดเอง และยังได้เริ่มฝึกอบรมช่างคนไทยให้สามารถคำนวณออกแบบและเขียนแบบก่อสร้างอาคารชลประทานได้ด้วยตนเอง ท่านได้ตระหนักถึงการขาดแคลนกำลังช่างด้านชลประทานที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ทำให้งานก่อสร้างไม่ก้าวหน้ารวดเร็วเท่าที่ควร และเพื่อเป็นการเตรียมรับปัญหาดังกล่าวในภายหน้า ท่านจึงได้ก่อตั้งโรงเรียนช่างชลประทานเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2481 เพื่อใช้เป็นแหล่งผลิตช่างสาขาชลประทานให้สามารถคำนวณออกแบบก่อสร้าง งานของกรมชลประทานได้รวดเร็วและสามารถขยายงานก่อสร้างได้อย่างกว้างขวาง ทันต่อการแก้ไขปัญหาและความต้องการของประเทศ
เมื่อท่านได้รับพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทานคนที่ 12 เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2492 ท่านได้วางรากฐานและแผนงานด้านการชลประทานที่สำคัญเพื่อพัฒนาประเทศไว้มากมาย นอกจากนี้ยังได้รับงานชลประทานราษฎร์ประเภทเหมืองฝายมาดำเนินการเอง จนทำให้มีการก่อสร้างเหมืองฝายจำนวนมาก รวมทั้งยังบุกเบิกงานสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัย ได้แก่ โครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ โครงการยันฮี ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรว่า “เขื่อนภูมิพล” ทำให้กรมชลประทานเข้าสู่ยุคของการพัฒนาแบบพึ่งพาตนเอง เนื่องจากท่านเป็นผู้วางรากฐานการพัฒนากำลังคน ให้มีความสามารถ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนางานชลประทานให้ก้าวไกล ทัดเทียมกับอารยประเทศ ท่านได้อุทิศเวลาการทำงานจนสามารถสร้างผลงานด้านการชลประทานที่สำคัญไว้มากมาย จนได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งชลกร”
เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณความดีของ หม่อมหลวงชูชาติ กำภู ที่ได้สร้างคุณงามความดีไว้ให้กับเจ้าหน้าที่กรมชลประทานรุ่นหลังได้ระลึกและเป็นแบบอย่าง จึงได้กำหนดให้วันที่ 4 มกราคมของทุกปี เป็นวันชูชาติ กำภู