สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้จัดทัศนศึกษาดูงาน PEA Innovation Center และ PEA Smart Home  ในวันพุธที่  12   ธันวาคม  2561       

     ทางสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ มก.  ได้เข้าชม PEA Innovation Center โดยมีการสาธิตระบบมิเตอร์ไฟฟ้า อัจฉริยะ ซึ่งมิเตอร์อัจฉริยะ หรือ Smart Meter คือมาตรวัดพลังงานไฟฟ้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถติดต่อสื่อสารโดยตรงกับระบบควบคุมที่ศูนย์ข้อมูลของการไฟฟ้าได้บ่อยเท่าที่ต้องการผ่านอุปกรณ์สื่อสารรวบรวมข้อมูล โดยไม่จำเป็นต้องส่งพนักงานมาเพื่ออ่านหน่วยค่าไฟฟ้าเดือนละครั้งแบบในปัจจุบัน ดังนั้น ผู้ใช้ไฟจะสามารถอ่านหรือคำนวนค่าใช้จ่ายจากการใช้ไฟฟ้าได้ตลอดผ่านระบบของการไฟฟ้า โดยสามารถสรุปคุณสมบัติหลักๆ ของระบบมิเตอร์อัจฉริยะได้ ดังนี้

  • สามารถรับส่งข้อมูลการใช้ไฟฟ้าได้แบบReal Time
  • สามารถรับรู้สถานะของปริมาณการใช้ไฟฟ้า คำนวณค่าใช้ ณ เวลาขณะนั้นได้
  • สามารถควบคุม ตรวจสอบปัญหาของอุปกรณ์จากศูนย์ข้อมูลได้
  • มีข้อมูลคุณภาพไฟฟ้า
  • รับรู้ข้อมูล/มีการแจ้งเตือน เหตุกระแสไฟฟ้าขัดข้อง และสถานะของการแก้ไขปัญหาได้

ข้อมูลจาก Smart Meter จะช่วยให้ผู้ใช้ไฟสามารถควบคุมและบริหารจัดการการใช้พลังงานของตนเองได้ กล่าวคือ ในอดีต ข้อมูลบางประเภทนั้น ผู้ใช้ไฟอาจจะไม่เคยตระหนักรับรู้มาก่อน เช่น ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในช่วงต่างๆ ของวันในเดือนนั้นๆ แต่ด้วยข้อมูลการใช้ไฟฟ้าโดยละเอียด ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเข้าไปดูได้จากระบบของการไฟฟ้า มีแนวโน้มจะทำให้ผู้ใช้ไฟเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการสนันสนุนจากภาครัฐ เช่น มีการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าให้ต่างกันในแต่ละช่วงเวลา โดยในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าพร้อมกันมากๆ ค่าไฟก็จะแพง ผู้ใช้ไฟฟ้าก็จะพิจารณาปรับเปลี่ยนการใช้งานอุปกรณ์บางอย่างที่ไม่จำเป็นในช่วงเวลานั้นไปใช้ในช่วงเวลาที่ค่าไฟถูกแทน เช่น เครื่องซักผ้า เป็นต้น 

ในเรื่องของไฟตกไฟดับ ผู้ใช้ไฟก็ไม่จำเป็นต้องโทรไปแจ้งกับการไฟฟ้าอีกต่อไป เพราะเจ้า Smart Meter จะส่งข้อมูลไปแจ้งเตือนทั้งปัญหาและตำแหน่งของจุดที่เกิดเหตุให้พนักงานของการไฟฟ้าออกไปแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว เรียกได้ว่ามิเตอร์อัจฉริยะ หรือ Smart Meter จะเข้ามามีบทบาทสำคัญและทำให้ทุกท่านใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างแน่นอน

            ปัจจุบัน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอยู่ระหว่างดำเนินโครงการติดตั้งระบบมิเตอร์อัจฉริยะให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยจะมีการใช้งานระบบสื่อสาร 2 ระบบ ทั้ง Wireless System (Radio frequency) เหมาะกับพื้นที่หนาแน่ที่เป็นพื้นที่เปิด และ Wired System (Power Line Communication)เหมาะกับพื้นที่หนาแน่นที่เป็นพื้นที่ปิด เช่น คอนโดมิเนียม อาคารสูง เป็นต้น 

ระบบที่สามารถทำให้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และ ผู้ใช้บริการ สามารถทราบประสิทธิภาพในการใช้ไฟฟ้าได้เป็นราย 15นาที แทนระบบเดิมที่เป็นรายเดือน ทำให้สามารถควบคุมการใช้ไฟฟ้าได้ดีขึ้น นอกจากนี้ทำให้ทราบปัญหาที่เกิดในระบบจ่ายไฟฟ้าได้เร็วขึ้น

ในส่วนของ Power communications Network Solution: IP น่าสนใจที่ระบบแบ่งช่องข้อมูลเป็น2 ส่วน Hard pipe สำหรับส่งข้อมูลระบบไฟฟ้า และ Soft pipe สำหรับส่งข้อมูลเหมือนอินเตอร์เน็ตได้

และทางสมาคมนิสิตเก่า วิศวกรรมศาสตร์ มก. ยังได้เยี่ยมชมPEA Smart Home ซึ่งมีความน่าสนใจหลายประการ

  1. ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และ แบตเตอรี่จัดเก็บ เพื่อใช้ไฟฟ้าหล่อเลี้ยงอุปกรณ์ภายในบ้าน
  2. มีระบบไฟฟ้าสำหรับชาร์จ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า และ ในกรณีฉุกเฉิน สามารถนำไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ภายนอก มาป้อนไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ภายในบ้านด้วย
  3. PEA Hive Platform ที่สามารถควบคุมอุปกรณ์อิเลคโทรนิค อุปกรณ์ไฟฟ้า IoTที่ใช้ภายในบ้านได้ มีจุดเด่นที่สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์หลายต่างยี่ห้อได้ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง ช่วยอำนวยความสะดวกได้หลายประการ

- เปิด ปิด ควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าด้วยเสียง หรือ ควบคุมผ่านมือถือระยะไกล

- ระบบรักษาความปลอดภัย สัญญาณกันขโมย สัญญาณเตือนกรณีลืมปิดประตูหน้าต่าง ระบบตรวจจับความเคลื่อนไหว ระบบกล้องวงจรปิด และระบบตรวจสอบรูปพรรณสัณฐานว่าใช่สมาชิกในบ้านหรือไม่

- ระบบแสดงปริมาณการใช้ไฟฟ้าของอุปกรณ์ต่างๆ ทำให้ดูแลใช้งานให้ประหยัดไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น

การมาเยี่ยมชมการไฟฟ้าภูมิภาคในครั้งนี้น่าประทับใจมาก ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำนวยความสะดวกให้พวกเราได้ศึกษาและมีผู้บรรยายอย่างละเอียด พร้อมตอบข้อสงสัยอย่างเป็นกันเองทางเราต้องขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งครับ

วิทยากร
1. นายจตุรนต์  กุศลส่ง (รุ่น E62) ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกระบบมิเตอร์อัจฉริยะ กองแผนงานระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ
2. นายกฤป  พงษ์พันธุ์ (รุ่น E62) วิศวกร ระดับ 6 กองวิจัย