ใช้เวลาสรรหากว่า 4 เดือน สำหรับตำแหน่ง “กรรมการผู้อำนวยการใหญ่” คนใหม่บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม ในที่สุดคณะกรรมการบริษัทมีมติเลือก “สมนึก รงค์ทอง” ลูกหม้อที่รั้งเก้าอี้รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ขึ้นเป็นใหญ่รับไม้ต่อจาก “สาริณี อังศุสิงห์” ที่เกษียณ โดยซีอีโอป้ายแดงเริ่มรับตำแหน่งตั้งแต่ 1 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา

“ผมมีเวลาทำงานแค่ 35 เดือนเท่านั้นถือว่าสั้นมาก” เป็นคำกล่าวของสมนึกในวันเปิดตัวต่อสื่อมวลชน ภารกิจเร่งด่วนที่จะทำในทันทีเป็นเรื่องการให้บริการ เพราะเป็นทั้งปัญหาและความท้าทาย เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมการบินเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการประเมินภาพรวมธุรกิจการบินและแนวโน้มปริมาณการจราจรทางอากาศในอนาคตพบว่า ธุรกิจการบินเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตและมูลค่าสูงขึ้นต่อเนื่อง

“แอร์บัสคาดอีก 20 ปีการจราจรทางอากาศทั่วโลกจะเติบโตปีละ 4.4% และจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุก 15 ปี โดยภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะเติบโตปีละ 5.5% สูงกว่ายุโรปและอเมริกาเหนือ เพราะเปิดเสรีการบินทำให้ผู้โดยสารและการเชื่อมต่อการเดินทางเพิ่มขึ้น”

ส่วนประเทศไทยในปี 2561 (ม.ค.-ส.ค.) มีปริมาณเที่ยวบิน 698,283 เที่ยวบิน เฉลี่ยวันละ 2,874 เที่ยวบิน คาดว่าถึง ธ.ค.นี้จะมีปริมาณเที่ยวบินมากกว่า 1 ล้านเที่ยวบิน หรือเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับปี 2560

“ตอนนี้เที่ยวบินในประเทศของเรามีสูง ทำให้ระบบเดิมรองรับได้ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดความล่าช้าตามมา ต้องเตรียมเทคโนโลยีและคนให้พร้อมรองรับเที่ยวบินที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ”

แนวทางแก้ไขปัญหามี 2 อย่าง คือ 1.กำหนดเส้นทางการบินแบบทิศทางเดียว (one way route) ตลอดเส้นทาง และ 2.จะนำระบบบริหารเพื่อเพิ่มความคล่องตัว โดยการกำหนด one way route เพื่อหลีกเลี่ยงจุดตัดเส้นทางทางอากาศในบางช่วง สำหรับการออกแบบเส้นทางจะเน้นในเส้นทางที่มีจำนวนผู้ใช้บริการหนาแน่นก่อน ส่วนเส้นทางที่มีผู้ใช้บริการน้อย เช่น เชียงใหม่-แม่สอด ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็น one way route

“เส้นทาง one way route เราเป็นผู้ออกแบบเอง ขณะนี้เสร็จแล้ว แต่ต้องนำไปให้กองทัพอากาศ (ทอ.) ในฐานะหน่วยงานด้านความมั่นคงพิจารณา และให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) อนุมัติเส้นทาง ต้องชี้แจง 2 หน่วยงานว่าเส้นทางใหม่ที่ออกแบบดีกว่าเส้นทางเดิม และมีความปลอดภัยแค่ไหน”

“สมนึก” ตั้งเป้าว่าภายในต้นปีหน้าจะได้เห็นเส้นทางภาคอีสานก่อนเป็นลำดับแรก เช่น เส้นทางจะไปอุดรธานี, นครพนม, ขอนแก่น, สกลนคร จากนั้นเป็นภาคใต้ ทั้งหมดไม่จำเป็นต้องรอให้ออกแบบเสร็จแล้วค่อยเสนอ เส้นทางไหนพร้อมจะเสนอเข้าไปก่อน ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้เรามีขีดความสามารถรองรับเที่ยวบินได้อีก 2 เท่า หรือจาก 1 ล้านเที่ยวบิน/ปี เป็น 2 ล้านเที่ยวบิน/ปี

นอกจากนี้ ได้พัฒนาระบบ simulator เพื่อจัดการระบบจราจรทางอากาศให้คล่องตัวขึ้น โดยจะต้องใส่ข้อมูลของเที่ยวบินที่เกี่ยวข้องทั้งหมดลงไป เช่น แผนที่ เส้นทางบิน โดยระบบจะจำลองจุดหมายที่จะไปมีหลุมจอดพอหรือไม่ คนหนาแน่นเท่าใด จะสามารถรองรับการจราจรทางอากาศที่สูงขึ้น 2 เท่า

“ในท้องตลาดขายระบบ 10 ล้านบาท แต่เราสามารถพัฒนาเองได้ คาดว่า 3-4 เดือนนี้จะพัฒนาเสร็จและใช้งาน เราจะนำไปให้ประเทศเพื่อนบ้านใช้ด้วย น่าจะทยอยเปลี่ยนระบบใหม่ได้ในปี 2562 ส่วนระบบเก่ายังคงไว้ก่อนเผื่อมีเหตุฉุกเฉินจะได้สลับมาใช้ได้”

อีกภารกิจเร่งด่วนคือบริหารจัดการในองค์กรจะใช้ระบบบริหารงานคุณภาพ (ISO) จะทำให้เข้มข้นขึ้นเพราะตอนนี้มีพนักงานในองค์กร 3,000 คน ลองคิดดูว่าเรามีคนมากขนาดนี้จะแบ่งและติดตามงานอย่างไร จึงต้องมีระบบจัดการและกระบวนการทำงานที่ชัดเจน ต้องมีตัวชี้วัดว่าตรงกับที่กำหนดไว้หรือไม่ และต้องนำระบบไอทีมาช่วยด้วย แต่ไม่มีนโยบายจะปรับลดพนักงาน เน้นบริหารจัดการมากกว่า

ด้านรายได้ในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 13,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเนื่องจากปริมาณเที่ยวบินที่ให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านเที่ยวบิน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ ๆ ส่วนใหญ่เป็นการซื้ออุปกรณ์ทดแทนระบบเก่า อย่างปีที่ผ่านมาใช้งบลงทุนไปกับการเปลี่ยนอุปกรณ์ 1,400 ล้านบาท เช่น เปลี่ยนอุปกรณ์วิทยุสื่อสาร 100 เครื่อง เงินลงทุน 100-200 ล้านบาท/ปี ระบบเครื่องช่วยการเดินอากาศแบบนำร่อง 200-300 ล้านบาท ระบบติดตามอากาศยาน (เรดาร์) 3,000-4,000 ล้านบาท จะกระจายไปทั่วประเทศ แต่จะเปลี่ยนเฉพาะระบบประมวลผลก่อน

ส่วนแผนลงทุนปี 2562 ตั้งไว้ที่ 1,400 ล้านบาท มีทั้งการลงทุนใหม่และการลงทุนต่อเนื่อง แต่จะจำกัดไม่ให้ต่อเนื่องเกิน 3 ปี ส่วนใหญ่จะเป็นการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ทันสมัยสอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเป็นไปตามมาตรฐานของ ICAO หรือองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ