เมื่อวันที่ 26 มี.ค 61 ที่ผ่านมา มีงาน CEO Innovation Forum 2018 "Transfroming Thailand Towards Science & Technology Frontier" โดยได้รับเกรียติจาก ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน และปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พลิกโฉมประเทศไทยสู่ก้าวใหม่ของการพัฒนา" โดยระบุว่า ปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ก้าวเข้ามามีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ในภาคเศรษฐกิจโลกกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสนับสนุนภาคบริการ นอกจากนี้เทคโนโลยียังได้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันเสมือนเป็นปัจจัยที่ 5 ส่งผลให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉมฉับพลัน ซึ่งในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ที่มีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว เช่น การเปลี่ยนรูปแบบวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตในอุตสาหกรรมการผลิตด้วย Advanced materials การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตและการบริการ การเปลี่ยนโครงสร้างการจ้างงาน การพัฒนาคนให้มีทักษะใหม่ตลอดเวลาด้วย Advanced robotics และ AI รวมถึงระบบประกันสุขภาพที่จะเปลี่ยนไปเพื่อให้คนมีอายุยืนขึ้น การปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ในรูปแบบใหม่ด้วย Next-generation  genomics การลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานและเพิ่มโอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย Renewable energy การเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการทำธุรกรรมและการให้บริการของภาครัฐและภาคเอกชนด้วย Mobile internet Cloud technology และ Internet of value ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉมฉับพลันทั้งสิ้น ดังนั้นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีที่เข้มแข็งจะมีความได้เปรียบในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในระยะยาว

“แม้ว่า World Economic Forum (WEF) จะจัดให้ประเทศไทยอยู่ในประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลาง และในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยเพียง 3-4% และยังมีความท้าทายจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งการเข้าสู่สังคมสูงอายุ การลดลงของกำลังแรงงาน รวมถึงข้อจำกัดและประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของประเทศ แต่จากความมุ่งมั่น ตั้งใจในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ตลอดจนความร่วมมือระหว่างรัฐ และเอกชนทำให้สภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นเป็นอย่างมาก จนเศรษฐกิจประเทศไทยขณะนี้พร้อมจะทะยานไปสู่โฉมหน้าใหม่ เป็นเศรษฐกิจยุคใหม่ในระดับที่พัฒนาขึ้น และพร้อมเป็นศูนย์กลางการลงทุน การคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน โดยมีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญต่อการทะยานในครั้งนี้” ดร.สมคิด กล่าว

อย่างไรก็ดี การก้าวไปสู่การพลิกโฉมประเทศและการทะยานไปสู่โฉมหน้าใหม่ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 กลุ่ม คือ  กลุ่มที่ 1 กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ กลุ่มที่ 2 กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ กลุ่มที่ 3 กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกล ที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม กลุ่มที่ 4 กลุ่มดิจิทัล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อการทำงานของอุปกรณ์ต่าง ๆ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว และกลุ่มที่ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง โดย 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ “10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต” และล่าสุดรัฐบาลได้กำหนดให้เพิ่มอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตด้วย โดยรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและพัฒนาเศรษฐกิจที่พึ่งพาการผลิต ไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจการผลิตยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวในการเรียนรู้การใช้องค์ความรู้จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของตนเองตลอดจนถึงผู้บริโภค
ดร. สมคิด ยังกล่าวอีกว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความสำคัญมากในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต เรียกว่าเป็นกระทรวงเพื่ออนาคต ดังนั้นกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ต้องเป็นกระทรวงผู้นำในการเตรียมการและความพร้อมในการทำเรื่องใหม่ๆ ด้วยวิธีการใหม่ๆ ด้วยนวัตกรรม และในอนาคตการเติบโตของธุรกิจจะไม่ใช่แค่การเกิดบริษัทขนาดใหญ่เพียงไม่กี่บริษัทเหมือนเช่นปัจจุบัน แต่จะเกิดการพัฒนาธุรกิจในโมเดลใหม่ๆ ที่เราเรียกว่า “New Business Platform” จะมีการทำงานร่วมกันของ Startups ซึ่งเริ่มจากการเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลางจำนวนมากทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มเดียวกันก่อให้เกิดรายได้และการจ้างงานมหาศาล ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ต้องสนับสนุนให้เกิดแพลตฟอร์ม และ Ecosystem เพื่อสร้าง Tech Startups เหล่านี้ อย่างเช่นที่ทำอยู่แล้วในปัจจุบันทั้ง การสร้าง EECi ขึ้นใน EEC เพื่อส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในอุตสาหกรรม S – Curves หรือ Food Innopolis ซึ่งต้องขยายพื้นที่เพิ่มเติมออกไปเข้าสู่ EEC เพื่อทำวิจัยและนวัตกรรม High-end ทำให้เป็นแม่เหล็กดึงดูดบริษัทอาหารชั้นนำเข้ามาทำนวัตกรรมในประเทศไทย และทำงานร่วมกับ Startups ของไทย

ด้าน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศบนพื้นฐานของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการขับเคลื่อนองค์กรนวัตกรรม ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าภาคเอกชนของไทยมีความตื่นตัวและมีการลงทุนในการวิจัยและนวัตกรรมมากขึ้นทุกปี จะเห็นได้จากผลของการสำรวจการวิจัยพัฒนาและกิจกรรมนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม ประจำปี 2560
และเพื่อเป็นการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอนาคต กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เตรียมเร่งการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยเพื่อไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างเป็นรูปธรรมผ่าน 3 แพลตฟอร์มหลัก คือ 1) Bio-Digital Platform ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทึ่มีฐานจากรหัสพันธุกรรมและชีวโมเลกุล และดิจิทัลเดต้า ซึ่งกระทรวงวิทย์ฯ เตรียมโครงการสำคัญรองรับหลายโครงการ อาทิ Bio Bank, Gene Bank, Plant Factory และ Bioinformatics เป็นต้น 2) Cyber-Physical Platform เพื่อเตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่จะมีทั้งระบบการผลิตที่สามารถมองเห็นและสัมผัสได้ทางกายภาพ รวมถึงแพลตฟอร์มการทำงาน การซื้อขาย ตลอดจนการให้บริการที่อยู่ในโลกไซเบอร์ควบคู่กันไป โดยมีเทคโนโลยีในที่สำคัญ อาทิ High Performance Computing, Smart Business, Internet of Value and Blockchain และ Data Analytics เป็นต้น 3) Earth-Space Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่จะครอบคลุมทั้งด้าน Food for the Future, Biomedical, Renewable Energy, Climate Technology, Geo Engineering, การจัดการน้ำและทรัพยากร และภัยพิบัติต่าง ๆ ตลอดจนการจัดการที่เกี่ยวกับดาวเทียมและอวกาศ และอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ เป็นต้น
 
“การจัดงาน CEO Innovation Forum 2018 ในครั้งนี้ เป็นเสมือนเวทีหนึ่งที่จะช่วยเตรียมความพร้อมให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา รวมถึงประชาชนผู้สนใจทั่วไปได้รับทราบถึงสถานการณ์ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ของประเทศไทยจากผลสืบเนื่องของนโยบาย มาตรการของรัฐบาล รวมทั้งได้เสวนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มและกระแสความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกทั้งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยในอนาคต เพื่อรับมือกับความท้าทาย และนำพาประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0 ต่อไป” ดร.สุวิทย์ กล่าว

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เผยถึง ผลการสำรวจการวิจัยและพัฒนาและกิจกรรมนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม รอบการสำรวจประจำปี 2560 พบว่า มูลค่าการลงทุนมีมากกว่า 100,000 ล้านบาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 0.78 ของ GDP โดยภาคเอกชนไทยมีค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนารวมทั้งประเทศประมาณ 80,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 3 ใน 4 ของค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาของทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นจากรอบการสำรวจประจำปี 2559 ถึงร้อยละ 39 นับเป็นการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายและมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา และเชื่อมั่นว่าในปี 2561 จะมีมูลค่าการลงทุนถึงร้อยละ 1 ของ GDP หรือประมาณ 160,000 ล้านบาท
 
“จากการสำรวจ พบว่า การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมการผลิตสูงสุด 3 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งมีการลงทุนสูงถึง 15,051 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์การพัฒนาสูตรอาหารและคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อให้สอดคล้องตามความต้องการและพฤติกรรมการบริโภคที่ปรับเปลี่ยนไป รองลงมาคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีการลงทุน 11,879 ล้านบาท ในการวิจัยและพัฒนาด้านการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตใหม่ การพัฒนาชิ้นส่วนรถตัวใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทแม่และเพื่อลดต้นทุนด้านการผลิต และอันดับ 3 คือ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม ที่มีการลงทุน 9,251 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนด้านการพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุน และการพัฒนาสินค้าใหม่ เช่น สูตรน้ำมันหล่อลื่นใหม่ เป็นต้น ด้านภาคบริการที่มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาสูงสุด ในปี 2559 คือ บริการทางการเงินและประกันภัย มีการลงทุนสูงถึง 4,891 ล้านบาท มาจากวิจัยและพัฒนาปรับปรุงการบริการใหม่ การพัฒนา Fintech เพื่อนำมาใช้พัฒนาการบริการด้านการเงินให้ทันสมัยและตอบสนองความต้องการผู้บริโภค เช่น โปรแกรม Streaming และ e-payment เป็นต้น รองลงมาคือ การบริการวิจัยและพัฒนา ที่ลงทุนด้วยเม็ดเงิน 4,750 ล้านบาท และบริการไปรษณีย์และโทรคมนาคม ที่ลงทุน 1,983 ล้านบาท ผ่านการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยพัฒนา (Innovation Center) เพื่อให้พนักงานเสนอความคิดสร้างสรรค์ภายใต้บริบท “Internet of Things” และเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในการใช้ชีวิตในสังคมดิจิทัลมากขึ้น สำหรับภาคค้าปลีกค้าส่งที่ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาสูงสุด ในปี 2559 คือ ห้าง ร้านสะดวกซื้อ และร้านของชำ โดยมีการลงทุน 5,070 ล้านบาท จากการวิจัยและพัฒนาระบบการตรวจสอบสินค้าใหม่ และการปรับปรุงกระบวนการผลิตใหม่ ทั้งนี้ ในปี 2559 บริษัทไทยมีนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในบริษัทเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 78 โดยส่วนใหญ่เป็นนวัตกรรมทางการตลาด และนวัตกรรมองค์กร” ดร.กิติพงค์ กล่าว